A comprehensive listing of building and house construction companies in Thailand.

ADVERTORIALS

    

เคล็ดไม่ลับ… วิธีฉาบปูนซีเมนต์



เคล็ดไม่ลับ… วิธีฉาบปูนซีเมนต์



ปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งสำหรับการฉาบปูนซีเมนต์ คือ รอยแตกร้าว ผนังอิฐไม่เรียบ ส่วนใหญ่แล้วมักเกิดจากการวางแผนเตรียมการที่ไม่ถูกต้อง หรือปัจจัยอื่น ๆ เช่น คุณภาพของวัตถุดิบ ส่วนผสมที่ใช้ จึงขอแนะนำการเตรียมอุปกรณ์ และการฉาบผนังอิฐอย่างถูกวิธี ดังนี้

อุปกรณ์สำหรับงานฉาบปูนซีเมนต์
• เกรียงสามเหลี่ยม แบบสั้น หรือ แบบยาว
• เกรียงเหล็ก เกรียงชัดมัน หรือ เกรียงไม้
• ฟองน้ำ หรือ แปรงสลัดน้ำ
• กระบะ หรือ กระป๋องปูน
• ไม้กวาดดอกหญ้า
• เหล็กฉาก
• สว่าน

เทคนิคการฉาบปูนซีเมนต์ภายในอาคาร
1. ตรวจสอบความสม่ำเสมอของผนังอิฐมวลเบาว่ามีส่วนไหนขาดหรือเกิน หากพบให้รีบทำการแก้ไขก่อนลงมือฉาบ เพื่อความเรียบเสมอและสวยงามของการฉาบ
2. ทำการสลัดน้ำปูนบริเวณผิวคานและเสาคอนกรีตก่อน 1 รอบ หลังจากนั้น ให้ทำการปูลวดตาข่ายเบอร์ 1/2 นิ้ว ขนาด 25 × 25 เซนติเมตร ที่ส่วนของรอยต่อของคาน และเสาคอนกรีตกับผนังอิฐมวลเบาก่อนจะทำการฉาบปูน เพื่อช่วยลดปัญหาการแตกร้าวของปูนซีเมนต์ในระยะยาว
3. บริเวณสถานที่โดยรอบผนังบ้าน ควรทำการขุดดิน และเคลียร์เศษขยะออกให้หมด จนสามารถทำการฉาบปูนผิวคาน หรือโครงสร้างได้ถึงระดับดินจริง นอกจากนี้ ควรติดตั้งอุปกรณ์นั่งร้านฉาบปูน เพื่อจะได้ไม่ต้องมาตามเก็บงานปูนของผนังด้านล่างในภายหลัง
4. ผนังส่วนไหนมีขนาดใหญ่และเรียบเสมอกัน ควรฉาบต่อเนื่องในทีเดียวจะดีที่สุด ควรหลีกเลี่ยงการแบ่งพื้นที่ฉาบหลายครั้ง เพราะจะทำให้ผิวของผนังไม่เรียบเนียนสวบงาม
5. ในส่วนบนสุดของงานฉาบผนัง (ส่วนที่ชนกับฝ้าเพดานภายนอก) ควรฉาบปูนซีเมนต์จนถึงท้องจันทัน
6. ในการจับ ‘เซี้ยม’ ขอบความสูงของเซี้ยมปูนผนังภายนอก ควรต่ำกว่าด้านในประมาณ 5 มิลลิเมตร เพื่อป้องกันน้ำฝนไหลย้อนเข้าตัวบ้าน

เทคนิคการฉาบปูนซีเมนต์ภายนอกอาคาร
1. ตรวจสอบความสม่ำเสมอของผนังอิฐมวลเบาว่ามีส่วนไหนขาดหรือเกิน หากพบให้รีบทำการแก้ไขก่อนลงมือฉาบปูนซีเมนต์ เพื่อความเรียบเสมอและสวยงามของการฉาบ
2. ควรติดตั้ง ‘เซี้ยม’ บริเวณขอบช่องที่จะติดตั้งชิ้นส่วน ประตู หน้าต่าง ฯลฯ เพื่อให้การฉาบปูนซีเมนต์ สามารถทำได้สะดวกขึ้น
3. ปูลวดตาข่ายเบอร์ 1/2 นิ้ว ขนาดประมาณ 25 × 25 เซนติเมตร บริเวณมุมเปิดด้านล่างและบนของช่องเปิด ทุกมุม รวมถึงส่วนที่มีการฝังท่อร้อยสายไฟใต้ผนังปูนด้วย เพื่อช่วยป้องกันและลดปัญหาการเสื่อมสภาพของปูนฉาบในระยะยาว
4. ทำการ ‘จับปุ่มปูน’ ที่ผนังก่ออิฐมวลเบาที่จะทำการฉาบปูนซีเมนต์ เพื่อจะกำหนดความหนาของการฉาบ ระยะห่างของปุ่มปูนควรอยู่ระหว่าง 20 – 1.50 เมตร และปุ่มปูนด้านล่าง-ด้านข้าง ระยะห่างจากผนังและพื้นด้านข้างประมาณ 15 – 20 เซนติเมตร
5. การฉาบผนังอิฐ ถ้าหากต้องฉาบ 2 ด้านที่ประกบกัน ไม่ควรฉาบพร้อมกัน ควรเว้นระยะฉาบคนละวันกัน เพราะหากทำวันเดียวกัน จะเกิดความยากลำบากในการตบแต่งมุมและฉากของผนัง
6. ส่วนที่มีการติดตั้งบล็อกเพื่อสวิสซ์หรือปลั๊กไฟฟ้า ควรทำการตกแต่งโดยรอบ เพื่อให้เกิดความเรียบร้อยและสวยงามของงาน

นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งปัญหาที่พบเจอในงานฉาบปูนซีเมนต์อยู่บ่อยครั้ง นั่นก็คือ ผิวของผนังปูนมีเม็ดทรายเกิดขึ้นจำนวนมาก เพราะใช้ฟองน้ำเปียกไปปั่นหน้าขณะตีน้ำ ทำให้น้ำปูนถูกล้างออกไปจนหมด คงเหลือแต่เมล็ดผิวหน้าหรือเกิดจากปั่นหน้าปูนนานเกินไป สามารถแก้ไขได้โดยการล้างฝุ่นที่ผนังออกให้หมด แล้วใช้ปูนสกิมโค้ทฉาบบาง ๆ เพื่อตกแต่งอีกครั้ง

ขอบคุณข้อมูลจาก: www.pd.co.th