A comprehensive listing of building and house construction companies in Thailand.

ADVERTORIALS

    

เลือกเหล็กให้ถูกต้อง.. เพื่อบ้านที่แข็งแรง



เลือกเหล็กให้ถูกต้อง.. เพื่อบ้านที่แข็งแรง



เรามักจะเปรียบเทียบสิ่งต่าง ๆ รอบตัวที่มีความคงทนแข็งแรงว่า ‘แข็งแรงเหมือนเหล็ก’ เป็นนัยสำคัญที่กำลังบอกว่า ‘เหล็ก’ คือ สัญลักษณ์ของความแข็งแรง หากลองสังเกตสิ่งต่าง ๆ รอบตัวล้วนแล้ว ต่างก็มีส่วนประกอบของเหล็กเยอะบ้าง น้อยบ้าง ขึ้นอยู่กับขนาดและการใช้งาน เช่นเดียวกับ บ้าน อาคาร ตึก ถนน สะพาน ฯลฯ เหล็กก็เป็นส่วนหนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญของงานโครงสร้าง ที่ทำให้สิ่งก่อสร้างมีความแข็งแรง ซึ่งเหล็กที่ใช้ในงานก่อสร้างมีหลายประเภทและมีคุณสมบัติที่แตกต่างกันออกไป

โครงสร้างบ้านคอนกรีตเสริมเหล็ก
โครงสร้างบ้านคอนกรีตเสริมเหล็ก (คอนกรีตเสริมเหล็ก เรียกโดยย่อว่า ค.ส.ล.) เป็นโครงสร้างที่นิยมกันอย่างแพร่หลายมาช้านาน ซึ่งใช้ ‘เหล็กเส้น’ เป็นส่วนประกอบของโครงสร้างประเภทนี้ ใช้ทำส่วนต่าง ๆ ของบ้าน ได้แก่ เสา คาน พื้น รวมถึงงานผนังก่ออิฐ โดยหน้าที่ของเหล็กเส้นในโครงสร้าง ค.ส.ล. คือ การรับแรงดึง ในขณะที่คอนกรีตทำหน้าที่รับแรงอัดหรือแรงกด ซึ่งนอกจากขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของเหล็กเส้นที่ต่างกัน จะส่งผลเรื่องความสามารถในการรับแรงดึงของงานโครงสร้างแล้ว ส่วนประกอบทางเคมีในเนื้อเหล็กแต่ละประเภทก็มีผลในการรับแรงเช่นกัน เรียกว่า ‘ค่ากำลังรับแรงดึง’ หรือ ‘ค่ากำลังรับแรงดึงที่จุดคราก’ มีหน่วยเป็น กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร (กก./ ตร.ซม. หรือ ksc) ซึ่งการสร้างบ้านควรเลือกใช้เหล็กให้เหมาะสม และควรเลือกซื้อให้ถูกต้องเพื่อความแข็งแรงของโครงสร้างบ้านและอาคารที่เราอยู่อาศัยเพื่อสิ่งที่เราปลูกสร้างจะได้อยู่กับเราไปนาน ๆ

เหล็กเส้นเสริมคอนกรีตมีอยู่ 2 ประเภท ดังนี้
1. เหล็กเส้นกลม (Round Bar หรือ RB)
มีลักษณะกลมผิวเรียบเกลี้ยง ใช้กับงานก่อสร้างขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สามารถรับแรงดึงที่จุดครากประมาณ 2400 kscหรือชั้นคุณภาพ SR24 เหมาะสำหรับงานโครงสร้างบ้านพักที่อยู่อาศัยทั่วไป

2. เหล็กข้ออ้อย (Deformed Bar หรือ DB)
ลักษณะผิวมีบั้งหรือปล้องอยู่ตลอดทั้งเส้น ทำให้ยึดเกาะกับปูนได้ดีกว่าเหล็กเส้นกลม ใช้กับงานก่อสร้างขนาดกลางขึ้นไป มีกำลังรับแรงดึงที่จุดครากอยู่ที่ประมาณ 3000, 4000, 5000 ksc หรือชั้นคุณภาพ SD30, SD40, SD50 ตามลำดับ เหมาะสำหรับงานก่อสร้างอาคารสูง คอนโดมิเนียม ถนน สะพาน หรือบ้านพักที่อยู่อาศัย ส่วนการเลือกชั้นคุณภาพจะขึ้นอยู่กับชนิดของโครงสร้างเป็นสำคัญ

วิธีอ่านค่ากำลังรับแรงดึงที่จุดคราก
วิธีการอ่านค่ากำลังรับแรงดึงที่จุดครากของเหล็กกลมจะระบุเป็น SR (Steel Round Bar) และเหล็กข้ออ้อยจะระบุเป็น SD (Standard Deformed Bar) แล้วตามด้วยตัวเลขที่บ่งบอกค่ากำลังรับแรงดึง เช่น SR24 หมายถึง เหล็กกลมที่มีกำลังรับแรงดึงที่จุดครากไม่น้อยกว่า 2,400 ksc หรือ SD30 หมายถึง เหล็กข้ออ้อยที่มีกำลังรับแรงดึงที่จุดครากไม่น้อยกว่า 3,000 ksc เป็นต้น

ดังนั้น ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของเหล็กเท่ากัน อาจมีค่ากำลังรับแรงดึงต่างกันได้ เช่น เหล็กข้ออ้อย 12 มม. จะมีทั้ง SD30, SD40 และ SD50 เป็นต้น และในทางกลับกัน เหล็กเส้นที่มีกำลังรับแรงดึงเดียวกันก็จะมีเหล็กที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางที่ต่างกันได้ เช่น เหล็กข้ออ้อย SD30 ที่เส้นผ่านศูนย์กลาง 12, 16, 20 และ 25 มม. เป็นต้น

มาตรฐานของเหล็กเส้น
นอกจากเลือกเหล็กเส้นจากค่ากำลังรับแรงดึงแล้ว เรายังต้องดูอีกว่ามาตรฐานของเหล็กเส้นที่นำมาใช้นั้นมีคุณภาพหรือไม่ เพื่อให้เหมาะกับการใช้งาน โดยมาตรฐานของเหล็กเส้นมี 2 ประเภท คือ
1. เหล็กเต็ม หรือ เหล็กโรงใหญ่ หมายถึง เหล็กที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง และน้ำหนักของเหล็กได้มาตรฐาน มอก.
2. เหล็กเบา หรือ เหล็กโรงเล็ก เป็นเหล็กที่ผลิตให้มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง และน้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐาน มอก. มักเป็นเหล็กรีดซ้ำ (นำเศษเหล็กที่ใช้งานแล้วหรือเศษเหล็กเสียสภาพมารีดใหม่อีกครั้ง) เหล็กเบาจะมีราคาต่ำกว่าเหล็กเต็มประมาณ 40 สตางค์ – 1 บาทต่อ 1 กิโลกรัม ซึ่งทำให้ประหยัดค่าใช้จ่าย แต่อาจก่อให้เกิดอันตราย เพราะอาจจะไม่สามารถรับน้ำหนักตามที่แบบกำหนดไว้ได้ เพราะแท้จริงแล้ว เหล็กเบาเหมาะกับงานหล่อที่ไม่เน้นเรื่องการรับน้ำหนัก หรือ ในส่วนที่ไม่ใช่โครงสร้างหลักเท่านั้น เช่น ใช้เป็นเหล็กหนวดกุ้ง ใช้เป็นเหล็กเสริมสำหรับหล่อเคาน์เตอร์ครัว เป็นต้น

ดังที่กล่าวมาข้างต้น เจ้าของที่อยู่อาศัยควรศึกษาทำความเข้าใจส่วนประกอบสำคัญของบ้านหรือตัวอาคาร เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่เกี่ยวข้องกับความแข็งแรงของโครงสร้างบ้านและอาคาร เพื่อความปลอดภัยของสมาชิกในบ้านและบ้านจะได้อยู่กับเราไปนาน ๆ


ขอบคุณข้อมูลจาก: www.zubbsteel.com, www.thanasarn.co.th, www.scgbuildingmaterials.com