A comprehensive listing of building and house construction companies in Thailand.

ADVERTORIALS

    

‘โฟมโลหะ’ นวัตกรรมวัสดุก่อสร้างที่พัฒนาโดยคนไทย



คนส่วนใหญ่มักนึกถึงโฟมที่ทำจากพลาสติก ตัวอย่างเช่น กล่องบรรจุอาหารโฟมกันกระแทก และข้อดีของโฟม คือ น้ำหนักเบาและเป็นฉนวนความร้อน แต่ปัจจุบันนี้ อุตสาหกรรมโลหะก็สามารถผลิตโฟมจากวัสดุโลหะได้ เรียกว่า โฟมโลหะ (Metal Foam) มีน้ำหนักน้อยกว่าโลหะตัน แต่แข็งแรงกว่าโฟมที่ทำจากวัสดุอื่น นอกจากนี้ ยังเป็นฉนวนกันความร้อนดูดซับเสียงได้อีกด้วย





โฟมโลหะ เป็นวัสดุที่แข็งแรงกว่าโฟมที่ทำจากวัสดุอื่น และยังมีจุดเด่น เช่น ดูดซับเสียงและแรงกระแทกทำให้สามารถประยุกต์ใช้งานได้หลากหลาย โลหะที่ถูกนำมาผลิตเป็นโฟมโลหะมีหลายชนิดด้วยกัน โดยที่นิยมใช้มากที่สุด คือ โฟมอะลูมิเนียม ปัจจุบันถูกนำไปใช้ในหลายอุตสาหกรรม เช่น ยานยนต์และการขนส่ง ก่อสร้างและที่อยู่อาศัย การทหาร เฟอร์นิเจอร์และตกแต่ง โดยใช้ในโครงสร้างที่ต้องรับแรงกระแทกดูดซับเสียงน้ำหนักเบา และสวยงาม

ปัจจุบัน โฟมอะลูมิเนียมมีขายและใช้งานในต่างประเทศ แต่ยังคงมีปริมาณการใช้งานที่ไม่มาก สาเหตุหลักประการหนึ่งที่จำกัดการใช้งานโฟมอะลูมิเนียม คือ ราคาขายที่สูง โดยราคาขายที่แตกต่างกันของโฟมอะลูมิเนียมต่าง ๆ สะท้อนถึงต้นทุนวัตถุดิบและการผลิตซึ่งวัตถุดิบที่มีราคาแพงสำหรับการผลิตโฟมอะลูมิเนียม ได้แก่ สารก่อฟองสารเพิ่มความหนืดและผงอะลูมิเนียม ส่วนขั้นตอนการผลิตที่สิ้นเปลืองพลังงานมาก ทำให้การผลิตโฟมอะลูมิเนียมมีต้นทุนการผลิตสูง ได้แก่ การอบสารก่อฟองที่อุณหภูมิสูงเป็นเวลานาน เพื่อหน่วงการสลายตัวเป็นก๊าซของสารก่อฟอง เป็นต้น

ดังนั้น การผลิตโฟมอะลูมิเนียมโดยตรงจากน้ำโลหะแทนการใช้ผงอะลูมิเนียม และการใช้สารที่มีจุดหลอมเหลวสูงกว่าโลหะอะลูมิเนียมที่สามารถแยกออกด้วยการละลายในตัวทำละลาย เป็นสารที่ช่วยทำให้เกิดโพรงแทนการใช้สารก่อฟองจะสามารถช่วยลดต้นทุนวัตถุดิบและการผลิตของโฟมอะลูมิเนียม

จุดเด่นของโฟมโลหะที่ได้มีโครงสร้างโพรงเป็นแบบเปิด (Open Cell) ซึ่งผู้ผลิตสามารถควบคุมและสามารถผลิตชิ้ให้มีรูปร่างตามต้องการ ต้นทุนการผลิตต่ำกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการผลิตที่ใช้สารก่อฟองสารเพิ่มความหนืดและผงอะลูมิเนียมเป็นวัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์โฟมโลหะที่ได้สามารถประยุกต์ใช้งานได้หลากหลาย เช่น ดูดซับเสียง (Sound Absorption) รับแรงกระแทก (Energy Absorption) น้ำหนักเบา (Lightweight) ถ่ายเทความร้อน (Thermal Management) และตกแต่ง (Decoration)

** ผลงานการวิจัยและพัฒนาโดย ดร.สมพงษ์ ศรีมโนเสาวภาคย์ และ คุณไพบูลย์ วัฒนพรภัณฑ์ ห้องปฏิบัติการการขึ้นรูปโลหะใกล้ร่างสุดท้าย ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ


ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก www.buildernews.in.th/news-cate/32312
ขอบคุณข้อมูลจาก www.nstda.or.th/tlo/view_tech.php?id=_DLgTLTo8nstSJUAynl2YA==