A comprehensive listing of building and house construction companies in Thailand.

ADVERTORIALS

    

7 ข้อต้องรู้!! ก่อนเลือกติดตั้ง 'โซลาร์ รูฟท็อป'



หนึ่งในความสะดวกสบาย ที่สร้างความประหยัดจากค่าไฟฟ้าหลักของ Smart Home คือ บ้านที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อชะลอวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ก็ต้องเป็นบ้าน ที่อยู่อาศัยที่มีการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาเรือน หรือที่เรียกว่า โซลาร์ รูฟท็อป (Solar Rooftop)





การติดตั้งโซลาร์เซลล์เป็นหนึ่งในวิถีใหม่ที่ดีกว่าเดิม เพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าได้ในระยะยาว รวมทั้งยังได้ลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปพร้อม ๆ กันอีกด้วย

กรีนพีซ ประเทศไทย ได้รวบรวม 7 ขั้นตอนต้องรู้ในการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป เพื่อให้ทุกคนที่ต้องการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เข้าใจขั้นตอนก่อนการติดตั้งแผงให้มากขึ้นก่อนตัดสินใจ

1. เช็คพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าในบ้าน โดยคำนวณบิลค่าไฟฟ้าย้อนหลัง 3 เดือน – 1 ปี
สิ่งที่ต้องทำอันดับหนึ่งคือต้องคำนวณว่าบ้านเราใช้ไฟฟ้ามากน้อยแค่ไหน ด้วยการดูบิลค่าไฟฟ้าย้อนหลัง 3 เดือน – 1 ปี เพราะพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของเราจะเป็นเหมือนแนวทางให้เราสามารถตัดสินใจได้ว่าเราจะติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ที่มีกำลังผลิตเท่าไร

2. สำรวจปริมาณการใช้ไฟฟ้าทั้งกลางวันและกลางคืน
ดูปริมาณที่เราใช้ไฟฟ้าในตอนกลางวันมากน้อยแค่ไหน เอามาเปรียบเทียบกับปริมาณการใช้ไฟฟ้าในตอนกลางคืน เราจะได้เห็นว่าถ้าเราจะสามารถลดค่าไฟฟ้าช่วงกลางวันไปได้เท่าไรหากติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป

3. เช็คค่าใช้จ่ายในการติดตั้ง
หากเราต้องการติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่มีกำลังติดตั้ง 1,000 วัตต์ จะมีค่าใช้จ่ายเริ่มต้นที่ 25,000 - 35,000 บาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่รวมทุก ๆ อย่างแล้ว ทั้งค่าบริการติดตั้ง ค่าใช้จ่ายในการขออนุญาตติดตั้ง ทั้งนี้ การติดตั้ง 1,000 วัตต์หรือ 1 กิโลวัตต์ สามารถลดค่าไฟฟ้าได้ประมาณ 500-800 บาทต่อเดือน

4. สำรวจพื้นที่สำหรับติดตั้งและการยื่นเรื่องขออนุญาตติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์
เมื่อสำรวจการใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน และเลือกปริมาณในการผลิตแล้ว ให้แจ้งขออนุญาตติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ที่เขตโยธาท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ ทางเขตโยธาจะส่งวิศวกรมาสำรวจหลังคาบ้าน ว่ามีความพร้อมติดตั้งหรือไม่ หรือจะต้องซ่อมแซมหลังคา หรือต้องเพิ่มเติมอะไรเพื่อให้ติดตั้งแผงได้โดยปลอดภัย หลังจากเช็คความพร้อมของหลังคาบ้านแล้ว ต้องทำเรื่องขออนุญาตการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) หรือการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ในเขตพื้นที่ที่บ้านตั้งอยู่โดยส่งแบบแปลน 2 แบบไปให้การไฟฟ้าฯ พิจารณา แบบที่ 1 เรียกว่า 'ส่งแบบ Single Line Diagram' เป็นแปลนระบบไฟฟ้า และ 2 เป็นแปลนอินเวอร์เตอร์

5. ยื่นเรื่องกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน
เมื่อได้รับการพิจารณาจากเขตโยธาท้องถิ่น และการไฟฟ้าฯ เรียบร้อยแล้ว นำเอกสารที่ได้รับมายื่นเรื่องต่อไปที่ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพราะเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่รับเรื่องและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการขอใบอนุญาตการประกอบกิจการ พลังงานตามประเภท ขนาดและลักษณะของกิจการพลังงาน ตลอดจนตรวจสอบการและสนับสนุนการดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการออกใบอนุญาตทั้งก่อนและหลังในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ กกพ. จะพิจารณาว่าเราสามารถติดตั้งโซลาร์เซลล์ได้หรือไม่

6. ขั้นตอนติดตั้งโซลาร์เซลล์ เป็นขั้นตอนที่สำคัญเพราะต้องเริ่มขึ้นหลังคาแล้ว โดยต้องเตรียมตัว ดังนี้
- เลือกทีมช่างที่มีความชำนาญการ เลือกใช้บริษัทที่มีความน่าเชื่อถือ มีประวัติการติดตั้งและเคยรับงานมากน้อยแค่ไหนเล็กใหญ่แค่ไหน
- เลือกใช้อินเวอร์เตอร์ที่มีคุณภาพ
- เลือกแผงโซลาร์เซลล์และรุ่นของแผงที่เหมาะสม
เมื่อช่างมาติดตั้ง เราจะต้องเช็คว่าสิ่งที่ช่างแนะนำก่อนหน้านี้กับอุปกรณ์ที่นำมาติดจริงตรงกันหรือไม่ อย่างไรก็ดียังไม่ต้องกังวลไป เพราะจะมีวิศวกรจากโยธาเขตท้องถิ่นมาตรวจเช็คอีกครั้งว่าอุปกรณ์ได้มาตรฐานหรือไม่

7. การใช้งาน การดูแลรักษา และการรีไซเคิล
เมื่อติดตั้งแล้วเสร็จ สิ่งที่เจ้าของบ้านต้องดูแล รักษา โซลาร์ รูฟท็อป โดยสังเกตแผงโซลาร์เซลล์ไม่ให้มีฝุ่นหรือสิ่งสกปรกมาเกาะ เพราะจะลดประสิทธิภาพการผลิตพลังงานไฟฟ้าของแผงโซลาร์เซลล์ เพียงแค่ใช้น้ำสะอาดฉีดล้างและใช้ผ้าเช็ดให้แห้ง แผงโซลาร์เซลล์จะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับบ้านเรานานประมาณ 25 ปีโดยมาตรฐาน (หากดูแลรักษาดีสามารถใช้งานนานถึง 30 ปี) เมื่อแผงโซลาร์หมดอายุการใช้งานแล้วก็จะต้องนำแผงเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลแผงโซลาร์ ซึ่งปัจจุบันมีเทคโนโลยีนำร่องที่สามารถรีไซเคิลแผงโซลาร์เซลล์ได้แล้ว

อย่างไรก็ดี แม้ว่าการติดตั้งโซลาร์เซลล์ในปัจจุบันนั้นเราสามารถเข้าถึงง่ายขึ้น เนื่องจากมีต้นทุนที่ถูกลง แต่ว่าประชาชนเองยังต้องเป็นผู้แบกรับภาระค่าใช้จ่าย หรือผู้มีรายได้น้อยก็ยังไม่สามารถติดตั้งโซลาร์เซลล์ได้ด้วยการลงทุนของตนเอง รวมทั้งยังต้องกลายเป็นส่วนหนึ่งของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพราะบ้านเรายังพึ่งพากระแสไฟฟ้าหลักทั้งที่มาจากโรงไฟฟ้าถ่านหินและเชื้อเพลิงฟอสซิลขนาดใหญ่


ขอบคุณที่มา MGR Online , Green Peace

ขอบคุณภาพโดย Ulrike Leone จาก Pixabay