A comprehensive listing of building and house construction companies in Thailand.

ADVERTORIALS

    

Facade การออกแบบสถาปัตยกรรมที่สร้างเสน่ห์ให้ตัวอาคาร เอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่ซ้ำใคร



การออกแบบและตกแต่งให้หน้าตาหรือเปลือกของอาคารดูสะดุดตา มีสไตล์เฉพาะตัว ทันสมัย เป็นการสร้างภาพลักษณ์ให้กับอาคารตั้งแต่แรกเห็น การออกแบบลักษณะนี้ เรียกว่า ฟาซาด (Facade) ไม่เพียงแต่ความสวยงามและความน่าสนใจของอาคารหรือบ้านเรือนแล้ว ยังสามารถควบคุมแสงสว่าง ความร้อน กันฝน กันฝุ่น อีกทั้งยังเป็นฉากกั้นพรางสายตาจากผู้คนภายนอกให้ความรู้สึกเป็นส่วนตัวแก่ผู้ที่อยู่อาศัยภายในบ้านอีกด้วย



ฟาซาด (Façade หรือ Facade) รากศัพท์มาจากภาษาฝรั่งเศส หมายถึง ‘ด้านหน้าหรือโฉมหน้า’ และนำมากับศัพท์ทางสถาปัตยกรรมมีหมายความว่า ‘องค์ประกอบด้านหน้าอาคาร’ ที่ครอบคลุมไปถึงชายคา กันสาด ระเบียง หน้าต่าง และส่วนปลีกย่อยของอาคารอย่าง ลายปูน บัวประดับผนัง หรือเสาพอก เป็นต้น

Facade ทำหน้าที่เป็นเปลือกหุ้มอาคาร เพื่อช่วยอำพรางสายตาจากบุคคลภายนอก ป้องกันตัวอาคารจากสภาพแวดล้อม รวมไปถึงการสร้างอัตลักษณ์ที่สวยงามให้กับตัวอาคาร เพิ่มความน่าสนใจด้วยลูกเล่น หรือ Pattern ใหม่ ๆ ให้เกิดความแตกต่างระหว่างคำว่า ‘อาคารกับสถาปัตยกรรม’ ได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น

สถาปัตยกรรมที่เน้นการใช้งานเชิงฟังก์ชันมาก ๆ และเป็นทางการ เช่น อาคารสำนักงาน อาคารทางศาสนา หรือ อาคารราชการส่วนใหญ่ รูปแบบหน้าตาของ Facade ก็จะออกมาเรียบง่าย Pattern การออกแบบที่ไม่ซับซ้อนมากนัก

สำหรับสถาปัตยกรรมที่พักอาศัย เช่น บ้าน ทาวน์เฮ้าส์ หรือ คอนโดมิเนียม ส่วนใหญ่จะเน้นรูปแบบหน้าตาของ Facade ตั้งแต่ระดับที่เรียบง่ายไปจนถึงระดับกลาง ๆ ไม่หวือหวามากนัก เพราะต้องคำนึงถึงความเหมาะสมในการใช้งาน และต้องสะดวกต่อการดูแลรักษา

ในขณะเดียวกันสถาปัตยกรรมที่เน้นการใช้งานเชิงพาณิชย์ในรูปแบบสาธารณะ เช่น ร้านค้า โรงแรม ศูนย์การค้า สนามกีฬาขนาดใหญ่ หรือ อาคารสูงระฟ้า ฯลฯ รูปแบบหน้าตาของ Facade ก็จะมีตั้งแต่ระดับที่เรียบง่ายกลาง ๆ ไปจนถึงระดับที่หวือหวาน่าตื่นตาตื่นใจ ซึ่งเป็นการสร้างอัตลักษณ์ให้กับอาคารในรูปแบบ Iconic Building เพื่อดึงดูดความสนใจจากผู้คน ซึ่งจะมี Pattern รายละเอียดการออกแบบที่มีลูกเล่นหลากหลาย และค่อนข้างซับซ้อน เพราะจะต้องมีเรื่องของรูปฟอร์มโครงสร้างอาคารเข้ามาเกี่ยวข้อง และยังต้องคำนึงถึงงานระบบอื่น ๆ เช่น งานออกแบบแสง (Lighting Design) งานระบบการให้น้ำของสวนแนวตั้ง (Vertical Garden) หรือ งานระบบ Facade สำหรับอาคารสูง (Curtain Wall) เป็นต้น

ในแวดวงนักออกแบบ ฟาซาด (Facade) แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

1. Double-Skin Façade หรือ ผนังสองชั้น มีลักษณะเป็นการกรุฟาซาดไปที่ ผนังอาคาร โดยเว้นระยะออกจากผนังภายในเล็กน้อย เพื่อเพิ่ม Layer ขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง ประกอบด้วยโครงสร้างเหล็ก อลูมิเนียม สำหรับยึดเกาะวัสดุอื่น ๆ ที่จะติดตั้งทับบนแผงฟาซาด เช่น ระแนงไม้ ตะแกรงเหล็ก บล๊อค อิฐ เป็นต้น ส่วนใหญ่ฟาซาดรูปแบบนี้เป็นอาคารขนาดใหญ่ เช่น ตึกกระจกสูงระฟ้า และอาคารสาธารณะต่าง ๆ

2. Building Form Façade หรือ ฟาซาดที่ถูกออกแบบให้เป็นทั้งผนังและเปลือกอาคารในองค์ประกอบเดียวกัน มีลักษณะเป็นส่วนหนึ่งไปกับอาคาร หรือเน้นองค์ประกอบที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับระนาบของผนัง ซึ่งทำให้วัสดุปิดผิวที่จะถูกเลือกนำมาใช้กับฟาซาดประเภทนี้ต้องเป็นวัสดุที่มีดีไซน์สวยงามในตัวเอง เพื่อให้เกิดรูปลักษณ์และความกลมกลืนไปกับตัวอาคารได้ดี

วัสดุที่ได้รับความนิยมในการนำมาใช้ต่อยอดในงานสถาปัตยกรรมการออกแบบ Facade ได้แก่

• ฟาซาดไม้สังเคราะห์ ปัจจุบันนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย มีความสวยงาม แต่ต้นทุนต่ำเมื่อเทียบกับวัสดุจากธรรมชาติอย่างไม้จริง สามารถสร้างได้หลายรูปแบบ ทั้งแบบปิดทึบ (Solid) ที่ช่วยป้องกันจากสภาพอากาศได้มากกว่า 90% หรือ แบบเปิด (Void) ที่ดีไซน์ในรูปแบบ Pattern ระแนงไม้ ช่วยให้เกิดมิติความสวยงาม และสร้างเอกลักษณ์ให้ผู้พบเห็น และยังเป็นเกราะกำบังให้กับตัวอาคารได้ดี

การดีไซน์แบบ ‘Mix & Match Facade’ เหมาะกับฟาซาดไม้สังเคราะห์ที่สุด เพราะสามารถเลือกวางรูปแบบของไม้ได้ทั้งในลักษณะเปิด-ปิด รวมถึงยังเลือกออกแบบ Pattern ของระแนงไม้ได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะแนวตั้งหรือแนวนอน

• ฟาซาดอิฐบล็อก ได้รับอิทธิพลมาจากฝั่งยุโรปกลาง เป็นการสร้างตัวฟาซาดให้กลมกลืนไปกับบริบทและป้องกันตัวอาคารจากสภาพอากาศที่เลวร้ายทั้งแสงแดดและลมฝนได้มากกว่าฟาซาดชนิดอื่น ๆ

‘Building Form & Facade’ เป็นเทคนิคการสร้างฟาซาดที่เหมาะกับการใช้วัสดุที่มีน้ำหนักหนักอย่างอิฐบล็อก ซึ่งเทคนิครูปแบบนี้ จะเน้นความกลมกลืนและสอดคล้องไปกับบริบทโดยรอบ นอกจากนั้นยังช่วยให้ตัวอาคารระบายอากาศได้ดี

• ฟาซาดเหล็ก-อลูมิเนียม นิยมทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ส่วนมากนิยมสร้างฟาซาดกับสถาปัตยกรรมของอาคารพาณิชย์ เช่น สำนักงาน, ห้างสรรพสินค้า เป็นหลัก เพราะเนื่องจากตัววัสดุมีน้ำหนักมาก รวมถึงดูแลรักษาค่อนข้างยาก จึงไม่ค่อยใช้เป็นฟาซาดกับบ้านพักอาศัย

ตัวฟาซาดเหล็กและอลูมิเนียม สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบได้หลายรูปแบบ บิดโค้งให้งอ หรือ ใช้เป็นระแนง ให้เข้ากับงานดีไซน์ได้ทุกประเภท อีกทั้งยังทำสีและฉลุลายได้ดั่งใจเพื่อสร้างเอกลักษณ์ให้กับพื้นที่การใช้งาน และที่สำคัญยังทำหน้าที่ในการเป็นตัวป้องกันจากแรงลมและฝนได้เป็นอย่างดี แต่ข้อเสีย คือ เมื่อกระทบกับแสงแดดจะทำให้วัสดุอมความร้อน และเสี่ยงต่อการเกิดคราบสนิม

การดีไซน์ฟาซาดแบบ ‘Perforated Metal Facade’ เหมาะกับวัสดุเหล็กและอลูมิเนียม เน้นการดีไซน์ฟาซาดให้มีรูปทรงสวยงามแปลกตา ไร้ข้อจำกัดของรูปทรง และต้องเลือกวัสดุที่เหมาะสม น้ำหนักเบา แต่สามารถยึดติดกับโครงสร้างอาคารได้อย่างแน่นหนา

• ฟาซาดกระจก ฟาซาดชนิดนี้พบเจอได้น้อยมาก เพราะนิยมใช้กับอาคารขนาดใหญ่ เช่น ศูนย์การค้า, พิพิธภัณฑ์, สนามบิน ด้วยตัววัสดุของกระจกมีความละเอียดอ่อน ทั้งในเรื่องของโครงสร้างและวิธีการติดตั้ง หากทำผิดขั้นตอนอาจทำให้เกิดความเสียหายตามมาได้

ด้วยลักษณะของกระจกเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมพื้นผ้า จึงทำให้การสร้างฟาซาดคือการวางแผ่นกระจกซ้อนกันไปมา สำหรับการสร้างฟาซาดกระจกในลักษณะโค้ง ก็สามารถทำได้เช่นกัน แต่ต้องเป็นกระจกชนิดพิเศษที่สามารถดัดโค้งได้อย่างอิสระ และต้องคำนึงถึงเทคนิคการติดตั้งระหว่างโครงสร้างกับวัสดุ

สำหรับฟาซาดกระจก เหมาะกับเทคนิคการติดตั้งแบบ ‘Building Form & Facade’ คือ การสร้างผนังฟาซาดขึ้นอีกชั้น โดยยึดติดเข้ากับโครงสร้างของตัวอาคารในลักษณะ Pattern หรือแบบบล็อค เพื่อให้เกิดช่องว่างให้ตัวอาคารได้ระบายอากาศได้สะดวก



ฟาซาดที่เหมาะกับอาคารหรือบ้านเรือน ควรคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้

• ความสวยงาม ฟาซาดมีให้เลือกมากมายหลากหลายรูปแบบ ทั้งมีลวดลายและไม่มีลวดลาย ทึบและโปร่งแสง ควรเลือก Texture ให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม หรือเชื่อมโยงกับเส้นสายของตัวอาคาร จะสร้างความโดดเด่นที่กลมกลืนให้กับที่อยู่อาศัยของเราได้ไม่เหมือนใคร

• ฟังก์ชันน่าสนใจ ฟาซาดที่สามารถปรับเลื่อน หรือ พับเก็บได้แบบบานเฟี้ยม (ทั้งระบบควบคุมอัตโนมัติและระบบควบคุมแบบธรรมดา) สามารถปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับทิศทางของแสงแดดแต่ละห้วงเวลาได้ตามต้องการ อีกทั้งยังสามารถปิดพรางเน้นความเป็นส่วนตัวเฉพาะจุด เพื่อรับกับการโยกย้ายหรือเปลี่ยนแปลงพื้นที่ใช้งานภายในได้ในอนาคต

• ความคงทน เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ติดตั้งไว้ภายนอกอาคาร ดังนั้น ควรคำนึงถึงข้อดีข้อเสียของวัสดุที่นำมาใช้ทำฟาซาด ควรเป็นวัสดุที่สามารถยืดอายุการใช้งานได้ยาวนาน ไม่ทำให้สีซีดจางเร็ว หรือ ตัววัสดุผุกร่อนได้ง่าย

• ความน่าเชื่อถือ ควรจะศึกษาประวัติความเป็นมา ความน่าเชื่อถือ ประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจของผู้ผลิตหรือแบรนด์ที่เราสนใจ

ประโยชน์ของ Facade ที่มีต่องานสถาปัตยกรรม

• ช่วยลดความร้อนและฝุ่นที่จะเข้ามาสู่ภายในอาคารโดยตรง ป้องกันการเสื่อมสภาพของโครงสร้างอาคารจากสภาพแวดล้อมภายนอก เช่น ฝน ความร้อน หรือ สารพิษจากมลภาวะทางอากาศ ซึ่งจะช่วยยืดอายุโครงสร้าง และวัสดุตกแต่งอื่น ๆ ของอาคารให้มีความคงทนยาวนานขึ้น

• ช่วยควบคุมแสงสว่างจากภายนอกที่จะเข้าสู่ตัวอาคารให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม

• ช่วยให้การไหลเวียนของอากาศมีความสมดุล มวลอากาศที่เย็นกว่าจากภายนอกไหลเวียนเข้ามาทดแทนมวลอากาศที่ร้อนกว่าภายใน ช่วยเพิ่มความสบายให้พื้นที่การใช้งานภายในอาคารได้อย่างมีประสิทธิภาพ

• การออกแบบที่สวยงามนั้น เป็นการสร้างเอกลักษณ์ลายเส้น อัตลักษณ์เฉพาะตัว และยังช่วยในการสร้างการจดจำ หรือ สร้างแบรนด์

• สร้างความเป็นส่วนตัวให้กับพื้นที่การใช้งาน หากอยู่ด้านในชิดฟาซาดจะสามารถมองออกไปยังด้านนอกได้ แต่คนภายนอกที่ห่างจากตัวฟาสาด จะเห็นแค่เป็นซี่หรือเป็นแนวแค่นั้น

ปัจจุบัน บ้านยุคใหม่มีหน้าตารูปร่างแปลกตาไปจากเดิมอย่างมาก หน้าตาภายนอกของตัวบ้านอาจจะไม่ใช่รูปทรงแบบเดิม ๆ ที่เราเคยเห็นกันอีกต่อไป นั่นเพราะ Facade หรือ โครงสร้างการตกแต่งด้านนอกของตัวอาคารบ้านเรือน ที่มีความโดดเด่นด้วยดีไซน์แล้ว ยังมีคุณประโยชน์ให้กับภายในของอาคารอีกด้วย อาทิ ช่วยกรองแสงแดด กันความร้อน ป้องกันฝุ่นเข้าสู่ตัวบ้าน และเพิ่มความเป็นส่วนตัวให้กับผู้อาศัยอีกด้วย


ขอบคุณที่มาโดย : Encyclopedia จาก WAZZADU , HÄFELE , Pichapohn Singnimittrakul จาก DsignSomething , TANA จาก HomeDeeDee

ขอบคุณภาพโดย : evening_tao จาก Freepik
- particular-modern-building-milan_11063667.htm
- giant-glass-building_960791.htm

อ่านบทความเพิ่มเติม >> คลิกที่นี่