A comprehensive listing of building and house construction companies in Thailand.

ADVERTORIALS

    

บ้านเย็น เงียบ สบาย ประหยัดพลังงานด้วย ‘ฉนวนกันความร้อน’



อากาศร้อนในประเทศไทยที่ดูเหมือนจะสูงขึ้นทุก ๆ ปี หลายคนต่างหาการแก้ปัญหาที่จะทำให้บ้านของเราเย็นขึ้นนั้นมีหลากหลายวิธี อันได้แก่ ปลูกต้นไม้ไว้รอบ ๆ บ้าน ติดตั้งกันสาดบังแดด ติดเครื่องปรับอากาศ หรือ การติดตั้ง 'ฉนวนกันความร้อน' นั้น ก็ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ซึ่งเป็นการป้องกันความร้อนเข้าสู่ตัวบ้านได้ในระยะยาว


ฉนวนกันความร้อน คือ วัสดุที่สามารถสกัดความร้อนไม่ให้ส่งผ่านไปยังส่วนอื่น ๆ โดยมีลักษณะเบา ประกอบด้วยฟองอากาศเล็ก ๆ จำนวนมาก ซึ่งมีคุณสมบัติสกัดกั้นความร้อนให้อยู่ในฟองอากาศ ไม่นำพาความร้อนไปยังส่วนอื่น ๆ ส่วนใหญ่จะติดตั้งไว้บนโครงหลังคาบ้าน เพื่อลดความร้อนจากแสงอาทิตย์ไม่ให้ส่งผ่านเข้ามาในบ้าน ซึ่งเป็นสาเหตุให้บ้านเกิดความร้อน อีกทั้งยังช่วยประหยัดพลังงานพัดลม แอร์ และค่าไฟอีกด้วย


โดยทั่วไปนั้น การติดตั้งฉนวนกันความร้อนมักติดตั้งบริเวณหลังคา เพื่อป้องกันความร้อนโดยตรงจากแสงแดด แต่ก็สามารถติดตั้งตรงผนังบ้านได้เช่นกัน เพื่อช่วยกันความร้อนจากผนัง เก็บความเย็นภายในบ้าน รวมถึงช่วยดูดซับเสียงรบกวนจากภายนอกได้อีกด้วย


ฉนวนกันความร้อน มีทั้งแบบหน่วงให้ความร้อนผ่านไปช้าลง และแบบสะท้อนความร้อนออก โดยการติดตั้งบริเวณหลังคามีหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับฉนวนแต่ละประเภท ดังนี้


1. ติดตั้งเหนือฝ้าเพดาน – ฉนวนที่ติดตั้งเหนือฝ้าจะช่วยหน่วงความร้อนเอาไว้ไม่ให้ลงมายังห้องด้านล่าง โดยพื้นที่ใต้หลังคาควรมีช่องระบายอากาศด้วย เพื่อถ่ายเทความร้อนออกสู่ด้านนอกไม่ให้สะสมใต้หลังคามากเกินไป ฉนวนที่ติดตั้งเหนือฝ้ามีหลายรูปแบบ มีทั้งแบบแผ่นและแบบม้วน เพื่อให้ง่ายต่อการวางเหนือฝ้า และบางชนิดก็ติดมาพร้อมกับแผ่นฝ้าในตัว


2. ติดตั้งใต้แผ่นหลังคา – ฉนวนที่ติดตั้งใต้แผ่นหลังคาสามารถกันความร้อนได้ดีที่สุด เพราะช่วยป้องกันความร้อนจากด้านบนไม่ให้ลงมาสะสมอยู่บริเวณใต้หลังคาบ้าน ฉนวนบางชนิดที่ติดตั้งใต้แผ่นหลังคาจะมีข้อจำกัด คือ ต้องติดตั้งไปพร้อม ๆ กับการก่อสร้างหลังคา แต่ก็มีบางชนิดที่สามารถติดตั้งบริเวณช่องแปของหลังคา รวมทั้งมีแบบฉีดพ่น ซึ่งสามารถติดตั้งในภายหลังได้


3. ติดตั้งบนผิวหลังคา – ฉนวนที่ติดตั้งบนผิวหลังคา ได้แก่ สีสะท้อนความร้อน ซึ่งจะช่วยสะท้อนความร้อนไม่ให้เข้าสู่บริเวณใต้หลังคาบ้าน แนะนำให้ใช้ควบคู่กับการติดตั้งฉนวนกันความร้อนประเภทอื่น ๆ ที่มีคุณสมบัติหน่วงความร้อน เพราะหากเกิดคราบสกปรกบนพื้นผิวหลังคาแล้ว จะทำให้ประสิทธิภาพในการสะท้อนความร้อนลดลงนั่นเอง


ฉนวนกันความร้อนแต่ละชนิด มีค่าต้านทานความร้อน (Resistivity) หรือ ค่า R ไว้บนฉลากบรรจุภัณฑ์ (มีหน่วยเป็น m2K/W หรือ ft2. F/Btu) ซึ่งบ่งบอกว่าฉนวนชนิดนั้น ๆ สามารถป้องกันความร้อนที่ผ่านเข้ามาได้มากแค่ไหน ยิ่งค่า R สูง ยิ่งแปลว่าต้านทานความร้อนได้ดี


โดยค่า R คิดคำนวณจาก ความหนาของฉนวน หารด้วย ค่าการนำความร้อน (Conductivity) หรือ ค่า K ของวัสดุ ซึ่งตามปกติแล้ว ฉนวนยิ่งหนา ยิ่งกันความร้อนได้มาก ส่วนค่า K ยิ่งต่ำยิ่งแปลว่าดี


สูตรของการคำนวณ คือ
R = ความหนาของวัตถุ / ค่าการนำความร้อน (K)


ตัวอย่างของฉนวนกันความร้อน ได้แก่


1. ฉนวนใยแก้ว ลักษณะเป็นแผ่นหนา ภายในประกอบด้วยใยแก้วเส้นเล็กที่ประสานกันจนเกิดเป็นโพรงอากาศ ซึ่งทำหน้าที่กักความร้อนเอาไว้ด้านใน เป็นวัสดุนำความร้อนต่ำ ไม่ลุกติดไฟ อีกทั้งยังช่วยดูดซับเสียงด้วย เป็นฉนวนที่ติดตั้งง่าย หาซื้อง่าย มีให้เลือกหลากหลายยี่ห้อ หลายรุ่น มีความหนาตั้งแต่ 2-6 นิ้ว มีทั้งแบบเปลือยและแบบปิดผิวด้วยอะลูมิเนียมที่ช่วยสะท้อนความร้อนได้ในตัว (ปิดผิว 1 หรือ 2 ด้าน หรือหุ้มรอบด้าน) มีทั้งแบบม้วนและแบบแผ่น สำหรับติดตั้งเหนือฝ้าเพดาน ใต้หลังคา หรือบริเวณผนัง


ข้อควรระวัง คือ อาจมีน้ำรั่วซึมในพื้นที่ติดตั้ง เพราะเส้นใยจะยุบตัวเป็นฝุ่นเมื่อโดนน้ำ ความชื้น หรือถูกกดทับ รวมถึงเมื่อติดตั้งอาจมีการฟุ้งกระจายของเส้นใยได้


ราคาประมาณ ตารางเมตรละ 150-300 บาท


2. ฉนวนพอลิยูรีเทนโฟม หรือ โฟมพียู (PU) หรือ โฟมเหลือง เป็นเทคโนโลยีการฉีดโฟมเพื่อป้องกันความร้อน เป็นวัสดุนำความร้อนต่ำ มีคุณสมบัติป้องกันน้ำและความชื้น ทั้งยังช่วยกันเสียงได้ด้วย โฟมพียูมีทั้งแบบฉีดพ่นใต้หลังคาและแบบแผ่น รวมถึงมีแบบที่มาพร้อมกับแผ่นฝ้าในตัว ปัจจุบันมีการพัฒนาสารกันไฟลามเพื่อเพิ่มเข้าไปในตัววัสดุ


ข้อแนะนำ คือ ควรเลือกใช้แบบที่ผสมสารกันไฟลามเข้าไปในตัววัสดุด้วย


ราคาประมาณ ตารางเมตรละ 400-500 บาท


3. ฉนวนเซลลูโลส หรือ ฉนวนเยื่อกระดาษ เป็นฉนวนแบบฉีดพ่นใต้หลังคา ผลิตจากกระดาษใช้แล้ว ตัววัสดุสามารถป้องกันความร้อนและควบคุมอุณหภูมิได้ดี มีน้ำหนักเบา กันเสียงได้ มีสารป้องกันการลามไฟ ป้องกันเชื้อรา รวมทั้งไม่เป็นแหล่งอาหารของหนู ปลวก และแมลงสาบด้วย สามารถฉีดพ่นได้ในพื้นที่แคบ บนหลากหลายพื้นผิว ทั้งเหล็ก และไม้


ข้อจำกัด คือ อาจควบคุมความหนาของฉนวนได้ไม่สม่ำเสมอ


ราคาประมาณ ตารางเมตรละ 200-400 บาท


4. ฉนวนอะลูมิเนียมฟอยล์ เป็นวัสดุที่ช่วยสะท้อนความร้อนไม่ให้เข้าสู่ตัวบ้าน ซึ่งมักติดตั้งใต้แผ่นหลังคาไปพร้อม ๆ กับการสร้างหลังคา เป็นฉนวนที่มีราคาย่อมเยา ติดตั้งง่าย น้ำหนักเบา ไม่ติดไฟ ไม่ขึ้นรา และป้องกันรังสียูวี


ข้อแนะนำ คือ ควรใช้อะลูมิเนียมฟอยล์ ควบคู่กับฉนวนประเภทอื่น ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันความร้อน เพราะหากมีฝุ่นเกาะหรือเป็นคราบ อาจทำให้ประสิทธิภาพในการป้องกันความร้อนลดลงได้


ราคาประมาณ ตารางเมตรละ 30-80 บาท


5. ฉนวนพอลิเอทิลีนโฟม หรือ โฟมพีอี (PE) เป็นฉนวนอีกชนิดหนึ่งที่นิยมใช้ในบ้าน ราคาย่อมเยากว่าฉนวนใยแก้ว รวมทั้งน้ำหนักเบาและเหนียว ประกอบด้วยชั้นโฟมหนานุ่มที่ช่วยหน่วงความร้อน หุ้มด้วยอะลูมิเนียมฟอยล์ที่ช่วยสะท้อนความร้อนในตัว มีความหนาตั้งแต่ 3 – 25 มิลลิเมตร ติดตั้งได้ทั้งเหนือฝ้าเพดานและใต้แผ่นหลังคา มีทั้งแบบม้วนและแบบแผ่นที่มีขนาดพอดีฝ้าทีบาร์


ข้อแนะนำ คือ ควรเลือกใช้โฟมพีอีที่มีการผสมสารกันไฟลามเพื่อความปลอดภัย


ราคาประมาณ ตารางเมตรละ 90-150 บาท


6. ฉนวนแอร์บับเบิล หรือ บับเบิลฟอยล์ ลักษณะเป็นม้วนคล้ายพลาสติกกันกระแทก โดยมีมวลอากาศอยู่ตรงกลางระหว่างแผ่นฟอยล์ที่ประกบสองด้าน ทำให้มีคุณสมบัติทั้งหน่วงและสะท้อนความร้อนได้ในตัว ฉนวนแอร์บับเบิลสามารถติดตั้งได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งปูติดเหนือฝ้าเพดาน และติดตั้งบริเวณโครงหลังคาแบบติดเหนือแปหรือใต้จันทัน โดยขึงลวดยึดไม่ให้ตกท้องช้าง เช่นเดียวกับโฟมพีอี เนื่องจากวัสดุด้านในผลิตจากพลาสติก


ข้อควรระวัง คือ ควรเลือกใช้ฉนวนแอร์บับเบิลชนิดที่ผสมสารกันไฟลามเท่านั้น


ราคาประมาณ ตารางเมตรละ 70-120 บาท


7. ฉนวนพอลิสไตรีนโฟม หรือ โฟมพีเอส (PS) หรือ โฟมอีพีเอส (EPS) หรือ โฟมขาว กันได้ทั้งความร้อนและความเย็น น้ำหนักเบา มีความยืดหยุ่นสูง ทนแรงกดทับได้ดี มีทั้งแบบแผ่นโฟมเปล่า และแบบที่มาพร้อมกับแผ่นฝ้าหรือแผ่นผนังในตัว เช่น แผ่นหลังคาและแผ่นผนังแซนด์วิช (Sandwich Roof & Panel) ขนย้ายง่าย และติดตั้งได้รวดเร็ว ลดขั้นตอนในการสร้างบ้าน ปัจจุบันมีการพัฒนาโฟมอีพีเอสแบบ F-Grade ซึ่งเพิ่มสารกันไฟลามเข้าไปในวัสดุ ทำให้มีความปลอดภัย เหมาะสำหรับงานก่อสร้างมากขึ้น


ราคาประมาณ ตารางเมตรละ 50-100 บาท


8. ฉนวนใยหิน (Rockwool) ผลิตจากการนำหินภูเขาไฟมาหลอมด้วยอุณหภูมิสูงและปั่นเป็นเส้นใย ทำให้มีคุณสมบัติป้องกันความร้อนสูง ดูดซับเสียงได้ดี เป็นวัสดุกันไฟ และมีอายุการใช้งานยาวนาน ส่วนใหญ่ที่วางจำหน่ายมีความหนา 5 เซนติเมตร นิยมใช้ติดตั้งสำหรับผนังกันเสียง แต่สามารถติดตั้งเป็นฉนวนบนฝ้าเพดานได้เช่นกัน


ข้อควรระวัง คือ ฉนวนใยหินไม่เหมาะสำหรับพื้นที่ชื้น เช่น การใช้เป็นผนังห้องเย็น


ราคาประมาณ ตารางเมตรละ 150-400 บาท


9. สีสะท้อนความร้อน (Ceramic Coating) มีลักษณะเป็นแผ่นฟิล์ม ซึ่งเกิดการผสมผสานอนุภาคของเซรามิกผสมกับอะคริลิกและส่วนผสมอื่น ๆ ทำให้สามารถสะท้อนความร้อนได้ดี ยึดเกาะพื้นผิว และดูดความร้อนต่ำ นิยมใช้พ่นภายนอกอาคาร โดยเฉพาะพ่นเคลือบหลังคาและพื้นดาดฟ้า ข้อแนะนำ คือ สีสะท้อนความร้อนควรใช้ควบคู่กับฉนวนประเภทอื่นๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันความร้อนเข้าสู่ตัวบ้าน


ราคาประมาณ ตารางเมตรละ 200-300 บาท


ฉนวนกันความร้อน ไม่เพียงแต่ช่วยให้บ้านเย็นเท่านั้น ยังช่วยให้บ้านน่าอยู่อาศัยขึ้น ลดเสียงดังจากภายนอก มีความปลอดภัยสูง ไม่ติดไฟ ไม่ฉีกขาดง่าย และที่สำคัญ ช่วยประหยัดพลังงานและค่าไฟฟ้าได้มากขึ้นอีกด้วย




ขอบคุณที่มาโดย บ้านและสวน , Kapook

ขอบคุณภาพโดย Freepik



บทความน่าสนใจ :
• ฉนวนกันร้อนแบบไหนดี
• ฉนวนกันความร้อนแอโรเจล (Aerogel Insulation)

อ่านบทความเพิ่มเติม >> คลิกที่นี่