A comprehensive listing of building and house construction companies in Thailand.

NEWS

    

ลุ้นรัฐห้ามตั้งโรงงานเหล็กเส้น “ทาทาสตีล-มิลล์คอน” หวั่นพ่ายสินค้าจีน

“ทาทาสตีล-มิลล์คอน"

ลุ้นกระทรวงอุตสาหกรรม เคาะขยายประกาศ “ห้ามตั้งโรงงานเหล็กเส้น” ในไทยก่อนครบกำหนด 5 ปี ม.ค. 2568 หลัง สศอ.วิเคราะห์ข้อมูลผลกระทบ รอบด้าน “ทาทาสตีล-มิลล์คอน” ประสานเสียงวอนรัฐช่วยอุตสาหกรรม หลังกำลังผลิตหดเหลือไม่ถึง 30% ลุยปรับตัวขนนวัตกรรมสู้เต็มที่

นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมเหล็กได้รับผลกระทบจากการทุ่มตลาดอย่างหนัก โดยเฉพาะเหล็กเส้นจากประเทศจีนที่มีการผลิตจนล้นตลาด ทำให้ต้องส่งออกมายังประเทศไทยจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดการแข่งขันทั้งด้านราคาและปริมาณมานานหลายปี ทำให้อัตราการผลิตในประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง ไม่สะท้อนความต้องการที่แท้จริง

“ณัฐพล

ดังนั้น มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในปี 2562 ได้ให้กระทรวงอุตสาหกรรม ออกประกาศ เรื่อง ห้ามตั้งหรือขยายโรงงานผลิตเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตหรือเหล็กแท่งเล็กสำหรับเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต ทุกขนาดทุกท้องที่ในราชอาณาจักร ตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 เป็นเวลา 5 ปี ซึ่งประกาศดังกล่าวจะสิ้นสุดในวันที่ 29 มกราคม 2568

ล่าสุดได้มอบให้ทางสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) วิเคราะห์ข้อมูล และหารือกับผู้ประกอบการโรงผลิตเหล็กเส้นในประเทศ รวมถึงการสำรวจว่าตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาปรับตัวหรือยัง ก่อนที่จะประกาศขยายเวลาห้ามตั้งโรงงานเหล็กเส้น

“เราให้ทาง สศอ. ทำข้อมูลวิเคราะห์ข้อดี ข้อเสียอยู่ มีทั้งเหล็กลวดที่ว่าจะขยายประกาศหรือไม่ และในส่วนของโรงเหล็กแผ่น เหล็กลวด ว่าเราถูกทุ่มตลาดแค่ไหน การประกาศห้ามตั้งโรงเหล็กตัวอื่นจะกระทบอะไรบ้าง กระทบใครบ้าง หรืออาจจะไม่ได้ล้นตลาดจนแข่งขันไม่ได้ ทุกอย่างต้องเอาข้อมูลมาประกอบ แต่เราก็พยายามช่วยและต้องให้ผู้ประกอบการเหล็กในประเทศพัฒนาตัวเองไปด้วย จะใช้เครื่องมือจากรัฐเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ผู้ประกอบการจะต้องช่วยเหลือตัวเองและต้องพยายามปรับตัวพัฒนาไปพร้อมกัน”

นายประวิทย์ หอรุ่งเรือง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิลล์คอน สตีล จำกัด (มหาชน) หรือ MILL กล่าวว่า ผู้ประกอบการมีความคาดหวังที่จะให้ภาครัฐช่วยพิจารณาขยายระยะเวลาห้ามตั้งโรงเหล็กเส้นในประเทศ เพราะเหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่เดือน ประกาศดังกล่าวก็จะครบกำหนดแล้ว แต่สถานการณ์การผลิตเหล็กในประเทศยังคงได้รับผลกระทบจากการทุ่มตลาดของเหล็กจากจีนอยู่เช่นเดิม

“ประวิทย์

ขณะนี้ผู้ประกอบการในประเทศต่างได้พยายามปรับตัวกันมาตลอด ทั้งการใช้เทคโนโลยี การใช้นวัตกรรมเข้ามาพัฒนาสินค้า การหาตลาดใหม่ ๆ การคิดหาสินค้าที่ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าของตลาด

นายตารุน ดากา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทาทาฯก็เป็นอีกบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากการถูกเหล็กจีนนำเข้ามาและแข่งขันด้านราคาตลอด โดยพบว่าปี 2567 เป็นปีที่จีนส่งออกเหล็กออกนอกประเทศสูงสุดในรอบ 8 ปี เพิ่มขึ้น 20.3% หรือกว่า 45.5 ล้านตัน และส่งเหล็กสำเร็จรูปมาประเทศไทยเพิ่มขึ้นถึง 27% เป็นเหล็กลวดเพิ่มขึ้น 10%

ในขณะที่การใช้กำลังการผลิตเหล็กของไทยเหลือเพียง 28% จากปี 2566 อยู่ที่ประมาณ 31% ความพยายามของผู้ผลิตในประเทศคือการพัฒนาตัวเอง ปรับตัวตามที่ภาครัฐได้ให้เวลาไว้ 5 ปี ล่าสุดทาทาฯได้ใช้เรื่องของเทคโนโลยีเข้ามาในส่วนของการผลิต เพื่อผลิตเหล็กเส้นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2 Emission )

และยังเป็นบริษัทผู้ผลิตเหล็กเส้นก่อสร้าง ที่ผลิตโดยกระบวนการเตาอาร์ก Electric Arc Furnace (EAF) ของประเทศไทยรายแรกที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสิ่งแวดล้อม EPD (Environmental Product Declaration) จากประเทศอังกฤษ

สำหรับ EPD เป็นฉลากที่บอกรายละเอียดของผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ผู้บริโภคจึงสามารถตรวจสอบการปล่อยคาร์บอนได้ตั้งแต่ต้นทางจัดหาวัตถุดิบจนถึงการผลิตและการจัดส่งให้ลูกค้า ซึ่งจะมีผลต่อความสามารถในการแข่งขันในประเทศเอง และการส่งออกไปตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่เข้มงวดในกระบวนการปล่อยคาร์บอนในส่วนของการผลิตสินค้าอย่างยุโรป

นอกจากนี้ ทาทาฯยังปรับตัวสู้การแข่งขันด้วยการปรับกระบวนการผลิตสินค้าให่เป็นเกรดสูง ส่งออกไปประเทศที่เป็นตลาดใหม่ ๆ อย่างออสเตรเลีย ดูไบ ฮ่องกง อย่างไรก็ตาม ยังคงเชื่อว่าเหล็กจีนยังมีโอกาสทะลักเข้ามาไทยเพิ่มอีกและผู้ผลิตในประเทศจำเป็นต้องหาทางปรับตัวและกลยุทธ์ใหม่ ๆ เพื่อแข่งขันให้ได้

ทั้งนี้ 7 สมาคมอุตสาหกรรมเหล็ก ได้เคยร่วมกันร่างนโยบายอุตสาหกรรมเหล็ก 4.0 ซึ่งมีทั้งมาตรการระยะสั้นที่เป็นการรับมือแก้ไขปัญาที่กำลังเกิดขึ้น เช่น การห้ามจัดตั้งหรือขยายการผลิตเหล็กส่วนเกิน การใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (AD) มาตรการปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard) มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้า (AC)

ขณะเดียวกันรัฐจะต้องสร้างอุปสงค์การใช้สินค้าเหล็กภายในประเทศ สำหรับใช้ในงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานรัฐและรัฐวิสาหกิจ โดยกำหนดสัดส่วนการใช้เหล็กในประเทศ ส่งเสริมใช้สินค้าเครื่องหมาย มอก. และเหล็ก Made in Thailand การออกมาตรการสนับสนุนด้านต้นทุน ด้วยการจัดหาแหล่งเงินกู้และผู้ร่วมทุน การเจรจาเพื่อลดผลกระทบทางการค้าด้านภาษี

ในระยะยาวควรส่งเสริมการใช้เหล็กสำหรับอุตสาหกรรมก่อสร้าง การสร้างความเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิต ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น ยานยนต์ในอนาคต (EV) การผลิตหุ่นยนต์แทนคน อากาศยาน เครื่องมือแพทย์ เป็นต้น

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ https://www.prachachat.net/economy/news-1644627