22 October 24 กรุงเทพธุรกิจ by Kanokkan
ค้าปลีกวัสดุก่อสร้าง ตกแต่งบ้าน เครื่องใช้ไฟฟ้า รับพิษอสังหาริมทรัพย์หดตัว รายย่อยหนี้พุ่ง โครงการลงทุนภาครัฐชะลอตัว ทุนไทยรายใหญ่เร่งปรับแผน รักษาฐานลูกค้าเก่า เจาะภาคท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว โหมทำการตลาดเพิ่มความหลากหลายช่องทาง ดันยอดขายเติบโต
จับตาผลกระทบ ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยหดตัวหนักรอบ 10 ปี สอดรับการปล่อยสินเชื่อบ้านหดตัวมากสุดในรอบ 23 ปี จากการประเมินของสถาบันการเงิน ไปจนถึงวิกฤตหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงถึง 90% ของจีดีพี และคนไทยมีหนี้ครัวเรือนประมาณ 6 แสนบาท เครดิตบูโรประเมินกลุ่มรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทน่าห่วงที่สุด ทำให้เกิดความกังวลว่านอกจากอสังหาริมทรัพย์ที่หดตัวหนักแล้ว จะลุกลามไปยังภาคธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาควัสดุก่อสร้าง สินค้าตกแต่งบ้าน และเครื่องใช้ไฟฟ้า ให้ทรุดตัวหนักตามไปด้วยหรือไม่
นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ประเมินภาพรวมค้าปลีกกลุ่มก่อสร้างและสินค้าตกแต่งบ้านทั่วประเทศที่รวมทั้งรายใหญ่ รายกลาง รายเล็ก มูลค่าประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท ได้รับผลกระทบจากปัจจัยสำคัญทั้งตลาดอสังหาฯที่ชะลอตัวลง และโครงการลงทุนใหม่จากภาครัฐที่หดตัวลงมาก
ปัจจัยหลักที่ทำให้ตลาดหดตัวลงมากมาจาก งบลงทุนโครงการภาครัฐ โดยในแต่ละปีภาครัฐมีงบประมาณรวม 3 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น 20% สำหรับการลงทุนโครงการต่างๆ ราว 6 แสนล้านบาท แต่ปัจจุบันการลงทุนโครงการใหม่ชะลอตัวตลอดปีที่ผ่านมา ส่งผลต่อเนื่องไปยังผู้กลุ่มผู้รับเหมาระดับกลางลงมาเป็นกลุ่มหลัก ที่เข้ามาซื้อสินค้าต่อเนื่องในร้านค้าปลีกรายใหญ่ชะลอตามไปด้วย
ทั้งหมดจึงทำให้ร้านค้าปลีกวัสดุก่อสร้างมีสต็อกสินค้าเพิ่มขึ้น และมีผลต่อเนื่องไปยังผู้ผลิตสินค้าที่ไม่ผลิตเพิ่ม ขยายวงไปจนถึงไม่มีการจ้างงานใหม่เข้ามาในระบบ และลุกลามไปยังผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อลดลง ทั้งหมดจึงแสดงถึง ซัพพลาย และดีมานด์ ที่ลดลงทั้งหมด จึงส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อภาพรวมของเศรษฐกิจไทย เกี่ยวโยงกันทั้งหมด
ไม่รุนแรงเท่าวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540
สำหรับภาคค้าปลีกรายใหญ่กลุ่มวัสดุก่อสร้าง 4 บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีส่วนแบ่งการตลาดรวม 15 - 20% ของตลาดรวมค้าปลีกวัสดุก่อสร้างมูลค่า 1.25 ล้านล้านบาท แม้ว่าภาพรวมตลาดชะลอตัวแต่สถานการณ์ยังไม่ถึงเข้าขั้นวิกฤตหรือจะลุกลามเทียบเท่ากับวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540
ทั้งหมดสะท้อนไปยังผู้ประกอบการกลุ่มอสังหาฯ และภาคค้าปลีกวัสดุก่อสร้างรายใหญ่ต่างมุ่งออกมากองทุนรีท ที่เน้นการลงทุนในภาคค้าปลีกและอสังหาฯ มากขึ้น เนื่องจากมีต้นทุนที่ต่ำกว่าการลงทุนในแบบอื่นๆ เพื่อร่วมบริหารจัดการต้นทุนภายใน
ส่วนแนวทางที่จะทำให้ตลาดฟื้นตัว ควรเร่งแก้ปัญหาหนี้เสียในระบบ และหนี้ครัวเรือน รวมถึงการให้สินเชื่อต่างๆ เพื่อเอื้ออำนวยต่อกำลังซื้อในตลาดกลับคืนมา
“เมื่อเทียบกับช่วงปี 2540 สถานการณ์ไม่น่ากังวลจะลุกลามไปจนถึงการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เนื่องจากปีดังกล่าว บริษัทไทยไปกู้เงินจากต่างประเทศจำนวนมาก และเมื่อค่าเงินลอยตัว ทำให้หนี้สูงขึ้นมาก แต่ปัจจุบันไม่มีสัญญาณนี้เกิดขึ้นมา แต่ภาคค้าปลีกวัสดุก่อสร้างทั่วประเทศที่หดตัวลง จึงเป็นผลต่อเนื่องทำให้กำลังซื้อและการจ้างงานในต่างจังหวัดที่ชะลอตัว รวมถึงยังไม่ฟื้น”
ตลาดตกแต่งบ้าน 4 แสนล้านบาทหดตัวหลักเดียว
นายรักพงศ์ อรุณวัฒนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตลาดสินค้ากลุ่มตกแต่งบ้านมีมูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท และตลาดวัสดุก่อสร้าง มีมูลค่ากว่า 6 แสนล้านบาท มีแนวโน้มชะลอตัวลงในระดับหลักเดียว ตามตลาดอสังหาฯ และการเปิดตัวโครงการบ้านใหม่ลดลง รวมถึงการเข้มงวดปล่อยสินเชื่อ
โดยประเมินภาพรวมตลาดสินค้าตกแต่งบ้านและวัสดุก่อสร้าง มีโอกาสกลับมาค่อยๆ ฟื้นตัวได้ช่วงปลายปี 2568 และขยายตัวได้ดีในช่วงกลางปี 2569 โดยมาจากการได้รับแรงหนุนจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มีผลบวกต่อสังหาริมทรัพย์ และเศรษฐกิจ แนวโน้มหนี้ครัวเรือนที่จะทยอยปรับลดลง รวมถึงภาครัฐทยอยออกมาตรการใหม่ๆ กระตุ้นธุรกิจอสังหาฯ อย่างต่อเนื่อง
สำหรับภาพรวมของโฮมโปรยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากเน้นทำตลาดกลุ่มลูกค้าบ้านเก่าที่เป็นฐานลูกค้าหลัก มีสัดส่วนประมาณ 80% ส่วนลูกค้าบ้านใหม่มีสัดส่วน 20% ประกอบการบริษัทได้เน้นทำตลาดหลักเป็นสินค้าตกแต่งบ้าน อีกทั้งมุ่งทำการตลาดอย่างเข้มข้นและมีแคมเปญอย่างต่อเนื่อง รวมถึงได้ร่วมมือกับ สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ลดและตรึงราคาสินค้า เพื่อร่วมกระตุ้นตลาดและเป็นผลดีต่อลูกค้า
“เมื่อประเมินตลาดรวมอาจจะยังไม่ดีมากนักและชะลอตัวลง แต่ปัจจุบันภาครัฐได้มีมาตรการต่างๆ ออกมากระตุ้นตลาดอสังหาฯ จึงเป็นผลดีต่อตลาดและผู้ประกอบการโดยรวม”
นอกจากนี้ยังมองโอกาสตลาดและทำเลที่มีศักยภาพ ทำให้ในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ มีแผนเปิดสาขาใหม่ 3 - 4 สาขา ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคใต้ ทำให้ในสิ้นปี 2567 บริษัทมีสาขารวมกันมากกว่า 130 สาขา มาจากทั้งโฮมโปร และเมกาโฮม
เครื่องใช้ไฟฟ้า ปรับแผนรุกท่องเที่ยว - โรงแรม
นายอำนาจ สิงหจันทร์ หัวหน้าฝ่ายการตลาด บริษัท แอลจีอีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่าผลกระทบจากภาคอสังหาฯ ที่ชะลอตัวลงยังไม่ฉุดตลาด เนื่องจากพอร์ตโฟลิโอหลักของตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าไทย มาจาก เครื่องปรับอากาศที่ครองสัดส่วนมากสุด ซึ่งขยายตัวสูงโดยเฉพาะช่วงหน้าร้อน ทั้งกลุ่มลูกค้าเดิมและลูกค้าที่ต้องการสินค้ารุ่นใหม่ ประกอบกับภาคท่องเที่ยวที่เกี่ยวกับภาคบริการ กลับมาขยายตัวดี จึงเป็นผลกระตุ้นตลาดรวม ทำให้ประเมินว่าตลาดรวมเครื่องใช้ไฟฟ้าปีนี้ที่มีมูลค่ากว่า 210,000 - 220,000 ล้านบาท สามารถขยายตัวได้ในระดับ 2 หลัก
สำหรับแอลจี ทำตลาดผ่านกลุ่มลูกค้าองค์กร (B2B) สัดส่วน 10% และลูกค้าผู้บริโภค (B2C) สัดส่วน 90% ซึ่งกลุ่มลูกค้าองค์กรยังมีสัดส่วนไม่มากนัก ประกอบกับ ได้มุ่งเน้นขยายธุรกิจบริการและการท่องเที่ยวเป็นหลัก จึงยังไม่ได้รับผลกระทบจากอสังหาริมทรัพย์ที่ลดลง
และเพื่อรับมือกำลังซื้อในประเทศที่ลดลง แอลจี ทำกิจกรรมการตลาดแบบใหม่ที่เป็น โมเดล ซับสไครบ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เริ่มต้นที่ 399 บาท/เดือน ทำให้ลูกค้ามีภาระค่าใช้จ่ายรายเดือนลดลงและเข้าถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าได้สะดวก รวมถึงรุกทำตลาดผ่านออนไลน์มากขึ้น เพื่อเพิ่มฐานลูกค้าใหม่ๆ ทำให้ประเมินภาพรวมปี 2567 รายได้โดยรวมอยู่ที่ 16,000 ล้านบาท เติบโต 7%
โรงแรม รีโนเวท เพิ่มความต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้า
พงษ์วุฒิ แสงประเสริฐ ผู้อำนวยการ ฝ่ายขายกลุ่มธุรกิจลูกค้าองค์กร (B2B) บริษัท พานาโซนิคโซลูชั่นส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประเมินว่า ภาพรวมเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เจาะกลุ่มลูกค้าองค์กร (B2B) ได้รับผลกระทบจากอสังหาฯ ที่ชะลอตัวลง ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน หดตัว 10-15% เป็นผลจากผู้ประกอบการชะลอเปิดโครงการใหม่ ส่วนลูกค้าโรงแรมขยายตัว 10-20% จากการรีโนเวท และตลาดท่องเที่ยวที่ดีขึ้น ทำให้แผนของบริษัทมุ่งขยายตลาดนี้เช่นกัน
ทั้งนี้แผนของพานาโซนิค ได้วางกลยุทธ์ในการรุกธุรกิจกลุ่มลูกค้าองค์กรกลุ่มธุรกิจโรงแรมเพิ่มขึ้น ผ่านการเสนอรูปแบบโซลูชัน โปรวายเดอร์ ทั้งวางระบบเครื่องปรับอากาศ ระบบระบายอากาศ ระบบแสงสว่าง และการวางจอโปรเจกเตอร์ รวมถึงเทคโนโลยี ไอโอทีอย่างครบวงจร รวมถึงบริการก่อนและหลังให้แก่ลูกค้า เพื่อเพิ่มพอร์ตโฟลิโอลูกค้ากลุ่มนี้ให้ได้สัดส่วน 70% ภายใน 3-5 ปีข้างหน้า จากปัจจุบัน สัดส่วนรายได้จากองค์กร มีสัดส่วนประมาณ 60% ส่วนอีก 40% มาจากลูกค้าทั่วไป (B2C)
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ https://www.bangkokbiznews.com/business/business/1149971
